ป่าเต็งรัง สามารถพบป่าชนิดนี้ได้ตั้งแต่ระดับความสูง 400 – 600 เมตร พรรณไม้เด่นที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ เต็ง รัง เหียง และพืชชั้นล่างที่พบได้แก่ ปรงป่าและเป้ง เป็นต้น ป่าชนิดนี้มักประสบปัญหาไฟไหม้ทุกๆปี โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง
ป่าเบญจพรรณ เป็นชนิดป่าที่มีการกระจายตัวอยู่ทั่วไปในระดับความสูง ตั้งแต่ 400 – 800 เมตร ในป่าชนิดนี้มีชั้นเรือนยอดประมาณ 2 – 3 ชั้น พรรณไม้ที่พบส่วนใหญ่เป็นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สัก, ชิงชัง, ประดู่, มะค่าโมง, ไม้แดง, และไม้ตะแบก เป็นต้น ในบางพื้นที่จะพบไผ่ ขึ้นปะปนอยู่เป็นบริเวณกว้าง ในส่วนของพืชชั้นล่างที่พบได้แก่ พืชวงศ์ขิง ข่า คล้า และเฟิร์นชนิดต่างๆ
ป่าดิบแล้ง เป็นสภาพป่าที่พบตามลุ่มหุบเขา ริมห้วยหรือริมลำธารเป็นแนวแคบๆ ที่ระดับความสูงประมาณ 400 – 800 เมตร พรรณไม้ในป่าชนิดนี้ได้แก่ลำดวนดง จำปีป่า, สมพง, มะไฟป่า, ไม้วงศ์ยาง และปอชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังพบไม้ป่าชนิดอื่นๆ ที่ขึ้นปะปนอยู่ เช่น ไม้ไผ่ ซึ่งกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง ตามแนวลำห้วย ส่วนไม้ชั้นกลางเป็นพืชวงศ์ปาล์ม หวายและกล้วยป่า พืชชั้นล่างส่วนใหญ่เป็นพืชวงศ์ขิงข่า ได้แก่ กระทือ ข่าคมและพืชวงศ์คล้า เป็นต้น
ป่าสนเขา เป็นสภาพป่าที่สามารถพบได้ตั้งแต่ระดับความสูง 800 – 1,700 เมตร พบตั้งแต่บริเวณแนวเขตติดต่อชายแดนไทย – สหภาพเมียน์มาร์ ตามแนวสันเขาเส้นทางความมั่นคงลงมาถึงแนวเขตบริเวณบ้านลาน และบริเวณที่มีความชันของพื้นที่ประมาณ 5 – 30 องศา สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่โล่งพรรณไม้ที่พบส่วนใหญ่เป็นสนสามใบ สนสองใบ และมักพบไม้ชนิดอื่นๆ ขึ้นปะปนอยู่ด้วย
ป่าดิบเขา สภาพป่าส่วนใหญ่ถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกตลอดทั้งปี และจัดเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญเนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดลำห้วยหลายสาย สามารถพบป่าชนิดนี้ในระดับความสูง 1,000 เมตร จนถึงบริเวณยอดดอยฟ้าห่มปกและริมตะเข็บแนวถนนสายความมั่นคง ซึ่งสามารถพบไม้ยืนต้นขนาดใหญ่หลายชนิดได้แก่ นางพญาเสือโคร่ง ก่อ อบเชย ทะโล้ เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบพืชชั้นล่างซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ดอกสีสันสวยงาม ได้แก่ บัวทอง หนาดขาว หนาดดำ ผักไผ่ดอย เทียนคำ และเทียนดอยเป็นต้น
|